เดิมตำบลบ้านหวาย ยังไม่เป็นตำบลหมู่บ้านส่วนใหญ่ขึ้นกับตำบลหนองแสง อำเภอ วาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ต่อมาได้แยกออกจากตำบลหนองแสงไปขึ้นกับตำบลหนองคู เพื่อตั้งเป็นกิ่งอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เมื่อ พ.ศ.2501และต่อมาได้ขอแยกออกจาก ตำบลหนองคู กิ่งอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม มาตั้งเป็นตำบลบ้านหวาย เมื่อ พ.ศ.2516 โดยมี นายประดิษฐ์ ทักษิณ เป็นกำนันคนแรก ตั้งแต่ พ.ศ.2516 – 2526 ซึ่งเป็นคนก่อตั้งตำบลบ้านหวาย อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม จนถึงปัจจุบัน
กำนันคนที่ 2 คือ นายล้วน ปริเตสังข์ ตั้งแต่ พ.ศ.2526 – พ.ศ.2532
กำนันคนที่ 3 คือ นายวีระพล ปะติเท ตั้งแต่ พ.ศ.2532 – พ.ศ.2544
ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2538) หมวด 1 ว่าด้วยเรื่องสภาตำบล โดยมาตรา 6 ในตำบลหนึ่งให้มีสภาตำบลหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้สภาตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคล มาตรา 7 สภาตำบลประกอบด้วยสมาชิกโดยตำแหน่งได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านของทุกหมู่บ้านในตำบลและแพทย์ประจำตำบล
และสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในตำบลนั้นเป็นสมาชิกสภาตำบลหมู่บ้านละหนึ่งคน และหมวด 2 ว่าด้วยเรื่ององค์การบริหารส่วนตำบล มาตรา 40 สภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมา ติดกันสามปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท หรือตามเกณฑ์รายได้เฉลี่ยในวรรคสอง อาจจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ฯ มาตรา 45 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกโดยตำแหน่ง ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านของทุกหมู่บ้านในตำบล และ แพทย์ประจำตำบล และสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในตำบลนั้นเป็นสมาชิกสภาตำบลหมู่บ้านละสองคน ดังนั้น
ในปี พ.ศ.2538 จึงได้มีการจัดตั้งสภาตำบลบ้านหวายขึ้น และ
ในปี พ.ศ.2540 (25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2540) ได้ยกฐานะสภาตำบลบ้านหวายเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวาย จนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มต้นมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลรวมทั้งสิ้น 52 คน จากสมาชิกโดยตำแหน่ง 18 คน และสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากราษฎร ในแต่ละหมู่บ้านในตำบลนั้นเป็นสมาชิกสภาตำบลหมู่บ้านละสองคน เป็น 34 คน (17 หมู่บ้าน) โดยมีคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมด 7 คน เป็นกำนัน 1 คน เลือกจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน 2 คน และ สมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้ง 4 คน คณะกรรมการบริหารเลือกกรรมการบริหารคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการบริหาร ซึ่งก็คือ นายวีระพล ปะติเท เป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวาย (พ.ศ.2540 – พ.ศ.2544)
ในปี พ.ศ.2542 เงินรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุน รวมเป็นเงิน 11,544,877 บาท
รายรับ เป็นเงิน 2,710,281 บาท รายจ่ายรวมเงินอุดหนุน เงินสะสม เป็นเงิน 2,708,081 บาท ดังนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวาย จึงเป็น
องค์การบริหารส่วนตำบลชั้น 5 (พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 โดยมีการแบ่งระดับขององค์การบริหารส่วนตำบลออกเป็น 5 ชั้น ตามระดับของรายได้ ดังนี้
1) อบต. ชั้น 1 รายได้ตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป
2) อบต. ชั้น 2 รายได้ระหว่าง 12 - 20 ล้านบาท
3) อบต. ชั้น 3 รายได้ระหว่าง 6 - 12 ล้านบาท
4) อบต. ชั้น 4 รายได้ไม่เกิน 6 ล้านบาท
5) อบต. ชั้น 5 รายได้ไม่เกิน 3 ล้านบาท)
ในปี พ.ศ.2545 ตามประกาศกำหนดขนาดขององค์การบริหารส่วนตำบล
ณ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2545 มีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งกลุ่ม อบต. เป็น 3 ขนาด คือ
1) อบต.ชั้น 1 กำหนดให้เป็น อบต.ขนาดใหญ่
2) อบต. ชั้น 2 และ อบต. ชั้น 3 กำหนดให้เป็น อบต.ขนาดกลาง
3) อบต. ชั้น 4 และ อบต. ชั้น 5 กำหนดให้เป็น อบต.ขนาดเล็ก
ดังนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวาย จึงปรับเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดเล็ก
ในปี พ.ศ.2546 พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 พ.ศ.2546 ได้ยกเลิกตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร
ในส่วนของคณะผู้บริหาร เป็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งในขณะนั้นมี
นายสละ แตงอ่อน ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวาย (พ.ศ.2544 – พ.ศ.2546) จึงได้เปลี่ยนตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวาย (พ.ศ.2546 – พ.ศ.2548) ตามวาระดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง 4 ปี
ในปี พ.ศ.2551 (21 สิงหาคม พ.ศ.2551) องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวายได้มีประกาศปรับขนาดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวายจากขนาดเล็กเป็นขนาดกลาง
ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวาย เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีความเป็นอิสระในการดำเนินงานภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด มีทรัพย์สินและรายได้เป็นของตนเอง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารสูงสุด คือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล
ซึ่งมีภารกิจให้บริการประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลและพัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง มีพื้นที่ ประมาณ 96.60 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 60,375 ไร แบ่งการปกครองเป็น 17 หมู่บ้าน